ตรวจสอบเล่มทะเบียน
การตรวจสอบเล่มทะเบียนรถยนต์
เล่มทะเบียนรถยนต์ มีความสำคัญมาก เป็นเหมือนใบเกิดของรถแต่ละคัน การดูเล่มทะเบียน และทำความเข้าใจกับข้อมูลในเล่มทะเบียนเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ทำให้เราเกิดความสบายใจ และมั่นใจการจะตัดสินใจจ่ายเงิน
ดูเล่มทะเบียนจากภายนอก
- ด้านหน้าของเล่มทะเบียนจะบอกประเภทรถยนต์ไว้ เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รย.1)
หรือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รย.2) รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รย.3) ซึ่งประเภทของรถมีถึง 17 ประเภท ด้วยกัน
- เลขทะเบียน ตรงจุดนี้จะสามารถดูได้ว่าเปลี่ยนทะเบียนกี่ครั้งแล้ว
- เลขที่ รย.XXXXXXX จะเป็นหมายเลขเล่มทะเบียนที่จะมีบอกในทุกหน้าๆของเล่ม (ต้องตรงกัน) ซึ่งปัจจุบันเลขเล่มสำหรับรถปีใหม่ๆจะขยับเป็น 8 เลขแล้ว รย.XXXXXXXX
*อยากให้สังเกตุว่า หมายเลขทะเบียนหน้าปก จะมี ทั้งแบบเขียนและแบบพิมพ์ซึ่งแบบพิมพ์จะมีความยุบและนูนของตัวอักษร
1.ตรวจสอบจากภายนอก
เล่มสีน้ำเงิน ด้ายที่อยู่ด้านสันนอกจะเป็นสีน้ำเงินด้วย
เล่มสีเขียว ด้ายที่อยู่ด้านนอกตรงสันนอกก็จะเป็นสีเขียว
สีของด้ายที่เย็บระหว่างกระดาษในหน้ากลางจะเป็นสีขาวเสมอ ซึ่งจะต่างกับสีด้านนอกที่จะตรงกับสีของเล่ม (รูปตัวอย่างเล่มรถสีน้ำเงิน)
สีของด้ายจากภาพที่สองนี้เป็นเล่มสีเขียว ซึ่งด้ายด้านในจะเป็นสีขาวเหมือนเล่มสีน้ำเงิน และหมายเลขเล่มทะเบียนจะตรงกับหน้าปกเสมอโดยในทุกๆหน้าของเล่มทะเบียนจะต้องมีตัวเลขเล่มพิมพ์ไว้
หน้าปกของเล่มทะเบียนจะนับเป็นหน้าที่ 1 และหน้าด้านใน จะเป็นหน้า 2 และ 3 ซึ่งในหน้านี้จะเป็น คำแนะนำในการดำเนินการทางทะเบียนรถ
โดยที่เล่มรถยนต์ 1 เล่มจะเปลี่ยนผู้ครองครองได้ 6 อันดับ (หน้า 4-15)
2.ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ภายในเล่ม
ตรงจุดนี้เราต้องสังเกตุว่า ประเภทของรถ และลักษณะของรถ กับตัวรถจริงตรงกันหรือไม่
และในหน้าเลขนี้จะลงข้อมูลของรถคันนั้นๆ ไว้
- วันจดทะเบียน วันนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงวันต่ออายุภาษีของรถด้วย *และจะตรงกับวันครอบครองรถครั้งแรกด้วย
- ยี่ห้อรถ
- รุ่นหรือแบบ ในบางครั้งจะบอกชื่อรุ่น และในบางครั้งจะบอกเป็น รหัสของรถแทน
- รุ่นปี ค.ศ.
- สีของรถ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีลงแก้ไขที่จุดนี้ด้วย
- เลขตัวรถ(หมายเลขตัวถัง) และตำแหน่งการตรวจสอบเลขตัวถัง ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของตัวรถ
- ยี่ห้อเครื่องยนต์ จะตรงกับยี่ห้อของรถ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องของยี่ห้ออื่นก็จะมีการแก้ไขด้วย
- เชื้อเพลิง ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถคันนั้นๆ เช่น เบนซิน, ดีเซล, เบนซิน+ไฟฟ้า, เบนซิน+แก๊ส และไฟ้ฟ้า ฯลฯ
- เลขถังแก๊ส จะระบุเมื่อรถคันนั้นใช้แก๊ส
- น้ำหนักรถ คือน้ำหนักของรถคันนั้นๆ น้ำหนักบรรทุก สำหรับรถกระบะ จะมีลงไว้ว่าสามารถบรรทุกได้กี่กิโลกรัม
- น้ำหนักรวม จะเป็นการรวมกันของน้ำหนักรถ+น้ำหนักบรรทุก
- จำนวนที่นั่ง จะระบุไว้ตามประเภทของรถ
(ในหน้าผู้ครอบครองที่ 1 วันจดทะเบียน กับวันครอบครองรถต้องตรงกัน)
- ผู้ถือกรรมสิทธิ์ จะเป็นชื่อของ ธนาคารหากมีการจัดไฟแนนซ์ และเมื่อผ่อนไฟแนนซ์หมด หรือ ซื้อมาด้วยเงินสด จะเป็นชื่อของเจ้าของ จะมีการใส่ข้อมูลผู้ถือกรรมสิทธิ์ลงไป ทั้งหมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่, สัญชาติ
- ผู้ครอบครอง จะเป็นชื่อบุคคลหรือชื่อบริษัทที่ครอบครองอยู่ เมื่อมีการผ่อนรถจนครบสัญญา จากผู้ครอบครองจะเปลี่ยนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
*ผู้ครอบครองจะครอบครองได้หากทำตามสัญญา แต่เมื่อผิดสัญญา ผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถยึดคืนได้
- สัญญาเช่าซื้อเลขที่ โดยมากจะไม่มีการลงข้อมลจุดนี้ไว้ แต่จะมีลงวันที่ ที่ทำสัญญากันไว้
- ลงชื่อ....................ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตรงจุดนี้จะต้องลงลายมือชื่อ เมื่อเป็นบุคคล และ จะต้องมีการลงชื่อ พร้อมประทับตราบริษัท เมื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในนามบริษัท
- ด้านล่างสุด จะต้องมีการลงลายมือชื่อ พร้อมตำแหน่ง ของ เจ้าหน้าที่ขนส่ง และ นายทะเบียนทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้ครอบครอง หรือเปลี่ยนข้อมูลในเล่มทะเบียน
จุดสังเกตุ การพิมพ์ในเล่มทะเบียนทุกตัวอักษรของข้อมูลที่เติมลงในช่องว่างที่เกิดจากการพิมพ์ โดยเครื่องพิมพ์ของกรมขนส่งจะมีรอยกด (เหมือนพิมพ์ดีด) ซึ่งจะสัมผัสได้เมื่อเอามือลูบตามตัวอักษร ขนาดของตัวอักษร จะเหมือนกันในทุกๆหน้า และในทุกๆเล่ม จะไม่มีการเลือกใช้ฟร้อนท์อื่น
ลักษณะการพิมพ์ข้อมูล จะไม่มีการเอียงซ้ายหรือขวา จะมีเพียง ขึ้นหรือลงไม่ตรงช่อง
หน้าที่ 16 (หน้ารายการต่อภาษี)
ในหน้านี้จะเป็นหน้ารายการต่อภาษี ซึ่งจะบอกเลขทะเบียนของรถคันนั้นๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่ทะเบียนแล้วก็จะมีการลงบันทึกไว้ ทั้งแบบพิมพ์และแบบเจ้าหน้าที่เขียนด้วยลายมือ
จุดสังเกตุ ทุกๆหน้าของเล่มทะเบียน จะมีเลขเล่มทะเบียนซึ่งตัวเลขจะตรงกับทุกหน้าๆเสมอ การพิมพ์อักษรด้วยเครื่องพิมพ์ของกรมขนส่งจะมีรอยยุบของตัวอักษรทุกตัว
- วันเสียภาษี ในบรรทัดแรก จะตรงกับวันจดทะเบียนของรถคันนั้นๆ และในปีต่อๆไป จะเปลี่ยนวันไปเรื่อยๆตามวันที่เจ้าของรถได้ไปดำเนินการต่อภาษี
- วันครบกำหนดเสียภาษี จะต้องตรงกันทุกๆปี
จุดสังเกตุ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวันครบกำหนดเสียภาษี จะเกิดจากการจดทะเบียนใหม่ ซึ่งต้องเปลี่ยนวันจดทะเบียน หรือ รถที่ย้ายจังหวัด วันจดทะเบียนจะเปลี่ยนไปตามวันที่ย้ายทะเบียนสำเร็จ
สำหรับเล่มทะเบียนที่มีการเปลี่ยนเล่ม เช่นเล่มรายการต่อเต็ม (ต่อภาษีเต็มทุกบรรทัด, เปลี่ยนผู้ครองครองเต็ม 6 อันดับ) ในหน้าที่ 16 จะมีลง วัน เดือน ปี ของการจดทะเบียนครั้งแรกไว้ด้วย
หน้าที่ 18 (หน้ารายการบันทึกของเจ้าหน้าที่)
หน้านี้จะบอกข้อมูลการครอบครองรถว่าโอนกี่ครั้งแล้ว การเปลี่ยนข้อมูลทุกอย่างของรถยนต์คันนั้นๆ จะต้องมีลงรายละเอียดที่หน้านี้เสมอ
เช่น รถมีการเปลี่ยนสี รถมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ รถมีการดัดแปลงอะไรจะมีข้อมูลในหน้าที่ 18-21 ทั้งหมด
หน้าที่ 18 นี้จึงมีความสำคัญให้เราอ่านข้อมูลที่มีทุกบรรทัด เพราะมีผลถึงอนาคตในวันที่เราะขายด้วย
สรุป จุดสังเกตุหลักๆ ของเล่มทะเบียนจริง เล่มทะเบียนปลอม คือ
- สีของด้ายที่เย็บเล่ม
- ลักษณะของตัวอักษร ที่ ไม่สามารถปลอมให้เหมือนได้ ถึงแม้ฟ้อนท์จะเหมือน แต่ลักษณะการพิมพ์ที่มี รอบยุยตามตัวอักษรนั้นทำไม่ได้
- ลักษณะของการพิมพ์ตัวอักษรที่ จะไม่มีการเอียงไปทางด้านหน้าหรือด้านหลัง จะมีเพียงขึ้นและลง
เขียน-เรียบเรียงตรีพันธุ์ เกิดสมบูรณ์02/08/2566LIVEmotorsaleรับซื้อรถยนต์